03:17 เสียซิงเพราะความเป็น “คนดีย์”

3 ประตูที่ ลิเวอร์พูล เสียให้ เวสต์แฮม จนนำมาสู่การแพ้นัดแรกในฤดูกาลนี้ผมมองว่ามัน “gentleman” หรือ “คนดีย์” เกินไปสำหรับทีมๆหนึ่งที่ตั้งเป้าไว้ถึงแชมป์ กล่าวคือเพื่อนร่วมทีมคนอื่นปล่อยให้ อลิสซอน ถูกรบกวนจากจังหวะเตะมุมอย่างลำพังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเสีย 2 ประตู และมิดฟิลด์ 3 ตัวรุมเขา 1 ตัวในจังหวะสวนกลับแต่เหมือนกลัวไม่ได้รางวัลแฟร์เพลย์ท้ายซีซั่น ไม่มีแม้แต่คนเดียวทำฟาว์ลทั้งๆที่เกมก็ดำเนินมาสู่นาทีที่ 67 แล้ว ที่น่าเสียดายสำหรับ “หงส์แดง” คือจริงๆ “ขุนค้อน” เล่นในบ้านห่วยกว่านอกบ้านด้วยซ้ำ คือเกมเยือนชนะ 4 เสมอ 1 ยังไม่แพ้ ตรงข้ามกับ ลอนดอน สเตเดี้ยม ที่ชนะแค่ 2 จาก 5 (ก่อนเจอ ลิเวอร์พูล) เหตุผลคือทีมของ เดวิด มอยส์ ออกนอกบ้านสามารถตั้งรับได้อย่างสบายใจเพราะธรรมชาติทีมเจ้าบ้านจะเข้าทำก่อนเสมอ ดังนั้นเมื่อเฝ้าบ้าน ฝั่งตรงข้ามก็คิดแบบนั้นเช่นเดียวกัน ทำให้ “ขุนค้อน” ต้องแอบฝืนแท็คติกส์ที่ถนัดเล็กน้อย (และแอบเกรงใจแฟนบอลที่เสียเงินเข้ามาดู) การเสียประตูตั้งแต่นาทีที่ 4 เข้าทางเจ้าถิ่นทันทีเพราะแฟนบอล “ทนดูได้” กับการที่ทีมรักลงไปจอดรถบัส ยิ่งเมื่อพิจารณาจากคู่แข่งคือ ลิเวอร์พูล การรักษาประตูนำคือ priority แรก การจะรอให้ TAA เสกประตูจากฟรีคิกมากกว่า 1 ลูกเป็นการขอที่มากเกินไป แนวรับ “หงส์แดง” ทำได้ดีกับการคุม อันโตนิโอ ที่เลือกไปยืนค้ำสู้กับ มาติ๊ป และ VvD โดยตั้งแต่ครึ่งแรกยันตอนสกอร์ 1-1 กองหน้าวัย 31 ปีแทบหายไปจากเกมเพราะพวกริมเส้นไม่ค่อยมีโอกาสได้ครอสสวยๆเท่าไหร่ ลูก 2-1 การเสียบอลหน้าเขตโทษ เวสต์แฮม มันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรกับการเจอทีมที่ตั้งรับเป็นแผงขนาดนั้น อย่างที่ผมบอกไปถ้าใครซักคนที่รุมกินโต๊ะ จาร์ร็อด โบเว่น สะกิดนิดหน่อยแลกกับใบเหลืองคงไม่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์อะไรแบบนี้ ลูกเตะมุม 3-1 หรือแม้กระทั่งก่อนหน้านี้ที่ เดคลาน ไรซ์ โหม่งชนคาน คุณไปดูไฮท์ไลท์ได้เลยว่า อลิสซอน ไม่สามารถ focus กับลูกบอลได้เต็ม 100 เพราะต้องคอยผลัก อันโตนิโอ ผู้ที่ไม่สนใจบอลใดๆเนื่องจากหน้าที่คือไปยืนรบกวนพ่อหมี “หงส์แดง” เสียประตูแบบนี้อาจเป็นกรณีศึกษาให้คู่แข่งหันมาใช้วิธีนี้กันเยอะขึ้นดังนั้น JK ต้องแก้ลำและต้องมีผู้เล่นคนใดคนหนึ่งต้องปกป้องและ aggressive ให้มากกว่านี้ น่าเสียดายที่ความหวังเล็กๆหลัง ดิวอร์ค โอริกี้ ไล่มา 2-3 แต่ ซาดิโอ มาเน่ ทิ้งโอกาสยืดสถิติไร้พ่ายจากการโขกเผาขนนาที 90 หลุดกรอบชนิดที่เพื่อนกุมหัวแฟนบอลแจกของชำร่วย เดอะ ค็อป อาจมองว่า มาเน่ ไร้ประโยชน์ หรือ โม ซาลาห์ เล่นไม่ออกแต่มองในมุมกลับ คือเกมนี้การที่ ลิเวอร์พูล ไม่เคยขึ้นนำได้เลยและต้องเป็นฝ่ายตามหลังตลอดมันส่งผลทำให้จำนวนแนวรับหน้าเขตโทษ “ขุนค้อน” มันเยอะเกินกว่าจะเล่นได้แบบปกติ อีกจุดนึงที่ผมอยากให้มองคือกลาง creative วันนี้ไม่มีและตัวเลือกก็มีเท่าที่เห็นซึ่ง JK จัดทัพได้ดีสุดเท่าที่จะทำได้ อเล็กซ์ อ็อกซ์เลด-แชมเบอร์เลน หน้าที่หลักอาจจะไม่เหมือน จอร์แดน เฮนเดอร์สัน หรือ ฟาบินโญ่ เพราะแกคือตัว support เกมรุกแต่ด้วยความที่ OX เล่นบอลแบบไม่มี “พิมพ์เขียว” ในหัวจึงสร้างสรรค์ลูกพลิกแพลงไม่เป็น สุดท้ายเราก็ต้องวกกลับมาพูดถึงการที่คุณกลับสู่เกมจากฟรีคิกของ TAA และเป็นฝ่ายคุมเกมตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งมาแพ้ภัยเสียประตูให้คู่ต่อสู่ทั้งๆที่คู่เซนเตอร์คือ มาติ๊ป และ VvD ทำหน้าที่ของตัวเองได้ตามมาตรฐานดีแล้ว ช่วงนั้นแหละครับที่เริ่มมีพื้นที่เพราะฝั่ง เวสต์แฮม ขยับไลน์และปรับ attacking mentality แต่สุดท้ายการเสียประตูง่ายเกินไปทำให้โอกาสที่ว่าหายไปด้วยจนเหมือนหนังม้วนเก่าตอนเสีย 1-0 อัตราการครองบอลหลังจบเกมเกือบ 70% กับการเจอทีมจอดรถบัส คุณต้องรู้อยู่แล้วว่าการตัดเกมกลางสนามตอนเขาสวนกลับมันจำเป็นเอามากๆ ในเมื่อ เดวิด มอยส์ และลูกทีมสามารถใช้โอกาสที่มีอย่างจำกัดและวินัยในเกมรับได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ลิเวอร์พูล ก็ต้องยอมรับสภาพก้นไปว่าวันนี้คุณแพ้เพราะคู่แข่งด้วยตัวเองด้วย จริงๆแล้วน่าจะแพ้นัดแรกในซีซั่นตั้งแต่เจอ ไบรจ์ตัน ที่ แอนฟิลด์ เมื่อสัปดาห์ก่อนด้วยซ้ำเลยกลายเป็น “เลขอั้น” มาระบายออกในเกมนี้ตามสภาพกันไปครับ การแพ้ในช่วงเบรกทีมชาติ 2 สัปดาห์อาจทรมานในแง่ของอารมณ์อยาก “แก้ตัว” แต่พิจารณาจากฟอร์ม 2 นัด 1 แต้มและนัดหน้าต้องเจอ อาร์เซนอล ที่ แอนฟิลด์ ผมว่าพักยาวๆอ่ะดีแล้ว… เอฟเวอร์ตัน 0-0 สเปอร์ส เวลาบอลเปลี่ยนโค้ชผมอยากดูว่ามีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนซึ่ง อันโตนิโอ คอนเต้ ประเดิมคุมนัดแรกกับ สเปอร์ส ในเกมยูโรป้า คอนเฟอร์เรนซ์ (รายการนี้ผมไม่เคยดู) คอนเต้ ยึดแผนเดิมเป็นนัดที่ 2 ติดต่อกันกับระบบ 3-4-3 เป็นแท็คติกส์ที่ส่งสัญญาณชัดเจนคือต้องการสร้าง balance เกมรับและรุกโดยมีแดนกลางเป็นตัวขับเคลื่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องชม ราฟาเอล เบนิเตซ ที่สั่งให้เด็กๆเล่นเพรสและเข้าบอลแบบ intensive คือไวและหนัก เกมจึงออกมาไวและดูรีบเร่งอยู่ตลอดเวลาซึ่งนักเตะ “คลับไก่” ไม่ค่อยชอบมาตั้งแต่สมัย นูโน่ แล้วและพูดได้ว่าถ้าไม่ใช่ คอนเต้ ทีมเยือนอาจตามหลังไปแล้ว “ท๊อฟฟี่” เหมือนเป็นฝ่ายลาก สเปอร์ส เข้ามาอยู่ในเกมของตัวเองแต่จังหวะที่จะเข้าทำต้องออกด้านข้างเนื่องจากตรงกลางเต็มไปด้วยแข้งชุดสีขาว ไฮท์ไลท์สำคัญคือการพลาดในเกมรับหนเดียวของ “ไก่เดือยทอง” ทำให้ ริชาร์ลิซอน หลุดเดี่ยวและเกือบเป็นจุดโทษหากไม่มี VAR หลัง ฮูโก้ ญอริส ล้มตัวสะกิดบอลแบบบางฉิว แต่ที่น่าเกลียดและทุเรศจัดคือใบแดงของ เมสัน โฮลเกท ในช่วงท้ายเกม เป็นอาชญากรรมลูกหนังที่บัดซบจริงๆ จังหวะนี้ ปิแอร์-เอมิล ฮอยแบร์ก ที่กำลังปรี่เข้าบอลแต่เห็นเหลี่ยมเสียเปรียบเลยชะงักแล้วหันหลังยอมแต่โดยดีแต่ โฮลเกท เคลียร์บอลแล้วฟอลโลว์ ทรู เปิดปุ่มใส่ซะสูง ราฟา วางแท็คติกส์เกือบสมบูรณ์แบบแต่มาพังตั้งแต่ส่ง โฮลเกท ลงสนามในนาที 82 แล้วดันมาแทน อัลลัน ที่ตัดเกมแดนกลางอย่างเด่น อาการเจ็บอะไรก็ไม่มี ใบเหลืองก็ไม่มีติดตัว พอส่ง โฮลเกท ลงมาเล่นเลอะเทอะ แดนกลาง สเปอร์ส กลายเป็นเล่นง่ายทันที ครับ คอนเต้ อาจต้องปรับจูนทีมอีกพักใหญ่เพราะแกเองก็ไม่ใช่เทวดามาจากไหนแต่เริ่มต้นเก็บคลีนชีทอันเป็นปรัชญาหลักของแกถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดี ส่วนเกมรุกมีการบ้านรออยู่ครับเพราะเกมนี้ยิงไม่เข้ากรอบเลย ใกล้เคียงสุดคือลูกยิงไกลชนเสาของ โล เซลโซ่ ก่อนหมดเวลา 2 นาที (ซึ่งไม่นับว่าเป็นการยิงเข้ากรอบ) ในขณะที่ “ท๊อฟฟี่” ของ ราฟา หยุดสถิติแพ้ 3 นัดรวดได้ในเกมนี้แต่ผลงานโดยรวมยังไม่ค่อยดีเพราะ 5 นัดยังเก็บชัยไม่ได้เลย แอบเป็นห่วง ราฟา ช่วงนี้ไม่น้อยเพราะไล่ดูโปรแกรมแล้วอย่าง “โหด” เพราะหลังเบรกทีมชาติปุ๊บไปเยือน แมนฯซิตี้, เบรนท์ฟอร์ด ก่อนเฝ้าบ้าน 2 เกมเจอ ลิเวอร์พูล และ อาร์เซนอล ต่อด้วยเยือน คริสตัล พาเลซ และ เชลซี ช่วงนี้เทรนด์ไล่โค้ชกำลังมารัวๆซะด้วย หวังว่า “เอลบอส” จะงัดฝีมือเอาตัวรอดเหมือนที่เคยทำได้นะครับ… สถิติ สถิติ สถิติ – ลิเวอร์พูล แพ้เกมแรกในรอบ 26 นัดในทุกรายการ (ชนะ 18 เสมอ 7) เป็นการยุติไร้พ่ายที่ยาวนานของสโมสรนับตั้งแต่เข้าร่วมฟุตบอลลีกเมื่อปี 1983 อีกด้วย – มีเพียง ดาเนี่ยล สเตอร์ริดจ์ (10 ประตู) เท่านั้นที่ยิงใน พรีเมียร์ลีก ในฐานะตังสำรองให้ ลิเวอร์พูล มากกว่า ดิวอร์ค โอริกี้ (9) โดยประตูในวันนี้เป็นลูกแรกของแข้ง เบลเยียม นับตั้งแต่กรกฏาคมปี 2020 หรือนานถึง 469 วัน (เจอ นิวคาสเซิ่ล) – “หงส์แดง” เสีย 2 ลูกจากเตะมุมในเกมพรีเมียร์ลีกเกมเดียวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สิงหาคม 2017 (พบ วัตฟอร์ด) – ฟรีคิกของ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ ทำให้เขามีส่วนร่วมกับประตูไปแล้ว 45 ลูก (ยิง 9 แอสซิสต์ 36) เป็นสถิติสูงสุดของกองหลังร่วมกับ ยอร์น อาร์เน่ ริเซ่ (21 ประตู 24 แอสซิสต์) – เวสต์แฮม โกยไป 23 แต้มจากการลงเล่นไป 11 เกมในลีก (ชนะ 7 เสมอ 2 แพ้ 2 ) มีเพียงปี 1975-76 และ 1980-81 เท่านั้นที่สถิติดีกว่า (ทั้ง 2 ซีซั่นได้ 24 แต้ม ปรับตัวเลขจากชนะ 2 แต้มเป็น 3 แต้ม) – เดวิด มอยส์ ปลดล็อกคว้าชัยเกมแรกในรอบ 15 เกมลีกกับการเจอ ลิเวอร์พูล (เสมอ 4 แพ้ 10) นับตั้งแต่เข้าคุมทีม เอฟเวอร์ตัน, แมนฯยูฯ, ซันเดอร์แลนด์ ก่อนมาสำเร็จที่ เวสต์แฮม และยังเป็นชัยชนะของ “ขุนค้อน” เหนือ “หงส์” หนแรกใน 11 เกมลีกที่เจอกันอีกด้วย (เสมอ 2 แพ้ 8) – 9 จาก 10 ประตูที่ เคิร์ท ซูม่า ทำได้มาจากลุกโขก (90%) เป็นค่าเฉลี่ยสูงที่สุดเหนือนักเตะทุกๆคนในพรีเมียร์ลีก (นับเฉพาะคนที่ทำได้ 10+) – สเปอร์ส ยิงไม่เข้ากรอบติดต่อกันเป็นหนแรกนับตั้งแต่ปี 2003-04 (ซีซั่นแรกที่มีการเก็บสถิติ) – นี่คือชัยชนะนัดที่ 54 ในการคุมทีม 100 นัดของ มิเกล อาร์เตต้า ในทุกรายการ มีเพียง จอร์จ เกรแฮม (56) คนเดียวเท่านั้นที่คว้าชัยหลังครบ 100 นัดมากกว่า “เตตวย” – เอริค สมิธ โรว์ เป็นนักเตะคนที่ 4 ที่ยิงประตูใน พรีเมียร์ลีก 3 นัดติดในวัย 21 ปีหรือน้อยกว่า ตามหลัง นิโกลาส์ อเนลก้า, โฆเซ่ อันโตนิโอ เรเยส และ เชส ฟาเบรกัส – ปิแอร์ เอเมอริค โอบามายอง ยิงจุดโทษในลีกไม่เข้า 4 จาก 13 ลูกหลังสุด มีแค่ เอียน ไรท์ (6) ที่วืดเป้าให้สโมสรมากกว่า – เบน ฟอสเตอร์ (38 ปี 218 วัน) เป็นนักเตะที่แก่ที่สุดที่เซฟจุดโทษในพรีเมียร์ลีกนับตั้งแต่ เชย์ กิฟเว่น (40 ปี 129 วัน) ทำไว้ในเกมที่ สโต๊ค พบ เอฟเวอร์ตัน เมื่อปี 2016 แต่ถ้านับเฉพาะที่เจอ “ปืนใหญ่” คนสุดท้ายที่ทำไว้คือ มาร์ค ซวาเซอร์ (40 ปี 35 วัน) เมื่อปี 2012 ในเกมพบ ฟูแล่ม

Leave a Reply